วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2556

แก๊สน้ำตา (ให้ความรู้ตามสถานการณ์บ้านเมือง)


 (อังกฤษ: Lachrymatory agent, Lachrymator หรือ Tear gas) แก๊สน้ำตาถูกใช้เป็นอาวุธประเภทก่อกวนในการปราบจลาจลเพื่อสลายการชุมนุม การใช้งานมีทั้งการยิงจากเครื่องยิงแก๊สน้ำตา และใช้แบบระเบิดขว้าง
แก๊สน้ำตาสามารถประกอบไปด้วยสารเคมีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันอยู่จะมีอยู่ 3 ชนิดคือ
1. Chloroacetophenone หรือ CN Gas
2. Chlorobenzylidenemalonitrile หรือ CS Gas
3. Dibenzoxazepine : CR Gas
สารเคมีเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของแข็ง (ผง) หรือของเหลวก็ได้ ซึ่งเมื่อโดนแก๊สน้ำตาเข้าไปแล้ว จะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ ทำให้มีน้ำตาไหลออกมาก เยื่อบุตาจะแดงและแก้วตาดำจะบวม ตามองไม่เห็น น้ำมูกน้ำลายไหล ไอ หายใจลำบาก ส่วนใหญ่จะหายเองภายในหนึ่งชั่วโมง ปริมาณที่ทำให้เสียชีวิตได้จะมากกว่าปริมาณที่ใช้ในการสลายการชุมนุมหลายร้อยเท่า
ทำอย่างไร เมื่อโดนแก๊สน้ำตา
การปฏิบัติที่สำคัญอันดับแรก คือต้องหยุดสัมผัสสารเคมีให้ได้ก่อน อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้นเองโดยที่ไม่ต้องให้การรักษาพิเศษอะไร ซึ่งในขั้นต้นได้แก่
· การหลีกเลี่ยงและออกจากสถานที่ที่มีแก๊สน้ำตานั้น ไปสู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทที่สะดวก และมีลมพัดให้สารเคมีนั้นกระจายออกไป
· ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารเคมีออก และใส่ไว้ในถุงที่ปิดมิดชิด (2 ชั้นยิ่งดี) โดยพยายามอย่าให้เสื้อผ้าเปียก เพราะสารเคมีจะละลายติดตามร่างกายได้
อาการทางตา :
ส่วนใหญ่น้ำตาที่ไหลอยู่นั้นจะช่วยขับเอาสารเคมีออกจากตาไปได้ ถ้าไม่หาย มีคำแนะนำ 2 แบบคือ อย่างแรก ให้ใช้ลมเป่าที่ตา เพื่อพัดเอาสารเคมีออกไป (ใช้พัดลมก็ได้) แต่ถ้ายังไม่หายอีก ให้ล้างตาด้วยน้ำเกลือ (normal saline)
การใช้น้ำเปล่าล้างตา ในกรณีที่หาน้ำเกลือไม่ได้ แม้ว่าอาจจะใช้ได้ในที่เกิดเหตุ ก็อาจทำให้เยื่อบุตาบวมได้ และอาจหยอดยาชาช่วยบรรเทาอาการร่วมกับปิดตาไว้ก่อน, ถ้ามีแผลที่กระจกตา (corneal abrasion) ก็ให้รักษาด้วย ยาปฏิชีวนะหยอดตา และยาแก้ปวด, อาการทางตาที่เป็นมาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์ให้ช่วยดูแลด้วย
ผู้ที่ใช้ contact lens ควรรีบถอดออก แล้วล้างทำความสะอาด (ในกรณีของ soft lens ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก)
ผิวหนัง : ถ้ามีอาการแสบ อาจล้างด้วยน้ำ และสบู่มาก ๆ โดยเฉพาะตรงข้อพับต้องดูแลเป็นพิเศษ, ถ้าผิวหนังไหม้ ก็ให้การดูแลเหมือนแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกโดยทั่วไป ถ้ามีการแพ้ ก็ให้ยา topical steroid ได้, ถ้ามีสารเคมีติดที่ผม การสระผม อาจทำให้แสบหนังศีรษะได้
อาการของทางเดินหายใจ : ถ้ามีอาการมาก ควรให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้การรักษาด้วยการให้ออกซิเจน หรือให้ยาขยายหลอดลม หากมีอาการของหลอดลมตีบ ถ้าเป็นมากจนมีการหายใจล้มเหลว อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
สำหรับเสื้อผ้า สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้า ด้วยผงซักฟอกธรรมดาได้ โดยใช้น้ำเย็นซัก ห้ามใช้น้ำร้อน เนื่องจากอาจทำให้สารเคมีระเหยและเป็นอันตรายต่อผู้สัมผัสได้
แหล่งข้อมูล
นพ.นพวัชร์ สมานคติวัฒน์, รู้จักกับ "แก๊สน้ำตา", Thaiclinic.com
Chris E McGoey, Tear Gas & Pepper Spray , CrimeDoctor.com
วลัยพร มุขสุวรรณ, แก๊สน้ำตา, หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย 
ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย
แก๊สน้ำตาคือสารเคมีอะไร?, Yahoo รอบรู้
รัชนี สุวรรณเกสร, แก๊สน้ำตา, GoToKnow.com
แก๊สน้ำตา, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
eduzone.com